หลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าทรัพย์สินประกอบด้วย 2 หลักเกณฑ์มาตรฐาน คือ หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการกำหนดมูลค่าตลาด และหลักเกณฑ์การประเมินที่มิใช่การกำหนดมูลค่าตลาด

หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการกำหนดมูลค่าตลาด

หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการกำหนดมูลค่าตลาด หมายถึง การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่สามารถอ้างอิงข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาด โดยข้อมูลต้องมีความเหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้เปรียบเทียบเพื่อกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินนั้น และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุด ข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์และเปรียบเทียบต้องได้จากตลาด หรือการซื้อขายในตลาดของทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกัน

หลักเกณฑ์การประเมินที่มิใช่การกำหนดมูลค่าตลาด

หลักเกณฑ์การประเมินที่มิใช่การกำหนดมูลค่าตลาด หมายถึง การประเมินมูลค่าทรัพย์สินบางประเภทที่มีลักษณะเฉพาะ มีการซื้อขายน้อย หรือไม่มีการซื้อขายเลย มีวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือมีข้อมูลตลาดไม่เพียงพอที่จะใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าตลาดของทรัพย์สิน โดยจะพิจารณาถึงอรรถประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินชิ้นใดชิ้นหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงความสามารถที่จะซื้อได้หรือขายได้ในตลาด หรือผลกระทบที่อาจเกิดจากสภาวะตลาดที่ไม่ปกติสำหรับทรัพย์สินนั้น

 

วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

บริษัทฯ ใช้วิธีการประเมินมูลค่าตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด วิธีต้นทุน และวิธีรายได้ วิธีประเมินแต่ละวิธีนั้นมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach)

วิธีเปรียบเทียบราคาตลาดเป็นการหามูลค่าตลาดของทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่า โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบจากทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีลักษณะความคล้ายคลึงกันในด้านต่างๆ มากที่สุด ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบ และปรับแก้ปัจจัยความต่างที่มีอยู่ระหว่างทรัพย์สินที่ประเมินกับทรัพย์สินเปรียบเทียบเหล่านั้น แล้วจึงสรุปผลเป็นความเห็นผู้ประเมินที่กำหนดเป็นมูลค่าตลาดของทรัพย์สินนั้น  ในวิธีเปรียบเทียบตลาดมีวิธีย่อยหลายวิธี เช่น วิธีการเปรียบเทียบโดยตรง (Direct Comparison) วิธีตารางปรับเปลี่ยนราคาซื้อขาย (Grid Adjustment) วิธีคะแนนคุณภาพถ่วงน้ำหนัก (Weighted Quality Score หรือ WQS) และวิธีสมการถดถอย (Regression Analysis) แต่ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ล้วนแต่ใช้ราคาซื้อขายจากตลาดทั้งสิ้น

                

วิธีต้นทุน (Cost Approach)

วิธีต้นทุนหรือวิธีมูลค่าต้นทุนทดแทนคงเหลือสุทธิ (Depreciated Replacement Cost หรือ DRC) หลักการสำคัญของวิธีนี้ คือ มูลค่าของทรัพย์สินได้จากผลรวมของมูลค่าที่ดินและมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง กล่าวคือ มูลค่าที่ดินหาได้จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลซื้อขายที่มีสภาพการใช้ประโยชน์คล้ายคลึงกันจากตลาดโดยใช้วิธี WQS ตามที่ได้กล่าวในวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด หรือวิธีอื่นๆ ส่วนมูลค่าอาคารได้จากต้นทุนทดแทนใหม่หักด้วยค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง โดยอ้างอิงราคาทดแทนค่าก่อสร้างอาคารและค่าเสื่อมราคาของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

              

การประเมินด้วยวิธีต้นทุนอาจใช้วิธีมูลค่าคงเหลือสุทธิ หรือที่เรียกว่าสมมุติฐานการพัฒนา (Residual Method or Hypothesis Method) หากไม่สามารถอนุมานราคาตลาดสำหรับที่ดินได้ โดยตั้งสมมุติฐานว่าที่ดินนั้นสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดคืออะไร แล้วนำราคาซื้อขายที่คาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดมา หักออกด้วยราคาต้นทุนอาคารตามสภาพ หลังจากการหักค่าเสื่อมราคาและองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนค่าเสื่อมทางเศรษฐกิจ มูลค่าที่เหลืออยู่เป็นมูลค่าที่ดิน

              

วิธีรายได้ (Income Approach)

วิธีรายได้เป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่ใช้สำหรับทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือประเมินมูลค่าในแง่ของการลงทุน เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สำนักงานให้เช่า โรงพยาบาล เป็นต้น วิธีรายได้ยังเหมาะกับทรัพย์สินที่ราคาตลาดหรือราคาเสนอขายที่มีความเบี่ยงเบนสูง หรือทรัพย์สินที่มีข้อจำกัดการใช้งานในเรื่องของเวลา ซึ่งทำให้ราคาตลาดนั้นไม่มีเสถียรภาพ ส่วนใหญ่เกิดจากการนำทรัพย์สินมาให้เช่า วิธีการนี้เป็นวิธีที่นำมาใช้พิจารณาร่วมกับวิธีประเมินมูลค่าต้นทุนและวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด ได้อย่างมีเหตุผลที่มีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้น ในสภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป การประเมินมูลค่าด้วยวิธีรายได้มี 2 วิธีย่อย คือ วิธีคิดผลตอบแทนทางตรง (Direct Capitalization Method) และวิธีคำนวณมูลค่าปัจจุบันของรายได้ที่เป็นกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow หรือ DCF) ไม่ว่าเป็นวิธีการใดก็ตาม ต่างใช้ลักษณะการแปลงรายได้มาเป็นมูลค่า

 

วิธีคิดผลตอบแทนทางตรง เป็นการใช้รายได้สุทธิของปีที่ประเมินเพียงปีเดียว ดังนั้นการใช้วิธีการนี้ควรจะเป็นช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะปกติ หรือตลาดที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์อุปทานหรือรายได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการประเมินวิธีนี้จะถือว่าปีนั้นเป็นตัวแทนของรายได้ทั้งหมดในปีอนาคต โดยทั่วไปจะเหมาะสมกับทรัพย์สินขนาดเล็กที่สร้างรายได้ เช่น ห้องชุดอยู่อาศัย ห้องชุดสำนักงาน อาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยใช้ความสัมพันธ์ของสูตรการคำนวณ กล่าวคือ V = I / R  โดยที่  V เป็นมูลค่าทรัพย์สิน (Value) I เป็นรายได้สุทธิ (Net Operating Income) และ R เป็นอัตราผลตอบแทน (Capitalization Rate)

              

ส่วนวิธีคำนวณมูลค่าปัจจุบันของรายได้ที่เป็นกระแสเงินสด เป็นการประมาณการรายได้สุทธิจากทรัพย์สินในอนาคตตลอดอายุการใช้งานของทรัพย์สิน และคิดลดกลับเป็นมูลค่าปัจจุบัน โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนตามหลักการทางด้านการเงิน ตัวแปรในการคำนวณประกอบด้วย อัตราค่าเช่าตลาด (Market Rental Rate) รายได้ (Income) ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ (Operating Cost) รายได้สุทธิ (Net Operating Income) มูลค่าสุดท้าย (Terminal Value) ระยะเวลาในการคำนวณ (Project Timing) อัตราคิดลด (Discount Rate) อัตราเติบโตของรายได้ (Growth Income) อัตราการเติบโตของค่าใช้จ่าย (Growth Cost) และอื่นๆ 

 

วิธีการประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์

วิธีการประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมี 3 วิธี ตามมาตรฐานการประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่จัดทำโดยสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ร่วมกับสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถอธิบายรายละเอียดโดยสังเขปได้ดังนี้

 

วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach)

การประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยวิธีเปรียบเทียบตลาด จะต้องมีข้อมูลของทรัพย์สินในการเปรียบเทียบจำนวนที่มากเพียงพอ และปรับแต่งการเปรียบเทียบเพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าตลาด ข้อมูลเปรียบเทียบควรประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ประเภทของเครื่องจักรและอุปกรณ์
  • ผู้ผลิต
  • ยี่ห้อ รุ่น และแบบ
  • อายุและสภาพการใช้งานของเครื่องจักรนับจากวันที่เริ่มใช้งาน
  • ขนาดความสามารถในการผลิต
  • วันและสถานที่ขาย
  • ราคาขาย
  • รายละเอียดส่วนประกอบ การเปลี่ยนแปลงและแก้ไข คุณสมบัติและความสามารถเพิ่มเติม ถ้าหากมี
  • แหล่งที่มาของข้อมูล

 

วิธีต้นทุน (Cost Approach)

การประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ด้วยวิธีต้นทุน ใช้หลักการต้นทุนทดแทนใหม่หักด้วยค่าเสื่อมราคา (Depreciated Replacement Cost) ตามปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมค่าของทรัพย์สิน เช่น การเสื่อมราคาทางกายภาพ การเสื่อมราคาทางประโยชน์ใช้สอย และค่าเสื่อมสภาพทางเศรษฐกิจ การประเมินด้วยวิธีต้นทุนควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ 

  • ราคาทดแทนใหม่ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เหมือนกันหรือมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การเทียบเคียงกับเครื่องจักรในปัจจุบัน
  • ราคาสร้างขึ้นใหม่ หากเป็นไปได้
  • ค่าเสื่อมราคา
  • อายุการใช้งาน (จำนวนปีนับจากวันที่เครื่องจักรเริ่มใช้งาน
  • ราคาทดแทนใหม่ต้องเป็นรูปธรรมและเชื่อถือได้
  • แหล่งที่มาของข้อมูล

 

วิธีรายได้ (Income Approach)

วิธีรายได้เป็นวิธีการประเมินโดยวิธีคำนวณมูลค่าปัจจุบันของรายได้ที่เป็นกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) วิธีนี้เป็นการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้งธุรกิจซึ่งรวมมูลค่าของที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง โรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งไม่สามารถบอกมูลค่าเจาะจงเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้

สำหรับการประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ไม่ว่าผู้ประเมินจะประเมินเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม การใช้พื้นฐานของการประเมินมูลค่าโดยใช้วิธีเปรียบเทียบตลาดเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีข้อมูลตลาดในการซื้อขายที่สามารถนำมาเปรียบเทียบโดยตรงกันได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นในกรณีที่ไม่มีข้อมูลตลาดที่เพียงพอ ต้องพิจารณาใช้วิธีการประเมินแบบต้นทุน หรือวิธีประเมินแบบต้นทุนบวกกับวิธีประเมินแบบรายได้

 

การประเมินมูลค่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ด้วยวิธีต้นทุน (Cost Approach)

การประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ “เครื่องจักร” ด้วยวิธีต้นทุน เป็นการประมาณการต้นทุนของเครื่องจักรใหม่ที่จะนำมาเพื่อทดแทนขึ้นใหม่ แล้วหักด้วยค่าเสื่อมราคาทางกายภาพ (Physical Deterioration) ค่าเสื่อมราคาทางใช้ประโยชน์ (Functional Obsolescence) และค่าเสื่อมราคาทางเศรษฐกิจ หรือปัจจัยภายนอก (Economic Obsolescence) ต้นทุนทดแทนใหม่ (Replacement Cost New) เป็นจำนวนเงินที่ประมาณไว้ว่าสามารถจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรใหม่เพื่อนำมาทดแทนเครื่องจักรเดิม ซึ่งมีความทัดเทียมในด้านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ประสิทธิภาพ และกำลังการผลิต จำนวนเงินดังกล่าวได้รวมถึงค่าดำเนินการ ผลกำไร และค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา หรือเงินตอบแทนค่าจ้างพิเศษ และราคาชดเชยต่างๆ

มูลค่าตลาด (Market Value)              =             ต้นทุนทดแทนใหม่ – ค่าเสื่อมราคารวมทั้งหมด

ค่าเสื่อมราคารวมทั้งหมด                    =             อายุตามระยะเวลาใช้งานของเครื่องจักร / อายุใช้งานทางกายภาพ

เพื่อให้เข้าใจง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน สามารถเขียนเป็นสูตรการคำนวณได้ดังนี้

                           MV          =             RCN - P - F - E

                            P            =             (1 – n / N) x C                                                                 

มูลค่าตลาด Market Value, MV) เป็นการประมาณการในรูปของจำนวนเงิน ซึ่งเครื่องจักรสามารถเปลี่ยนมือกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความเต็มใจ โดยปราศจากแรงกดดันให้ซื้อหรือขาย ณ วันที่ประเมิน โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความรอบคอบ และมีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเครื่องจักร ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีในระดับที่เท่าเทียมกัน มูลค่านี้รวมค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งหมด เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกอบ และค่าติดตั้ง ฯลฯ เพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างสมบูรณ์ มูลค่าดังกล่าวจึงเป็นมูลค่าของเครื่องจักรซึ่งมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปแล้ว จะเหมาะสมในกรณีที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีจุดมุ่งหมายที่จะคงเครื่องจักรตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน มิใช่มูลค่าที่เกิดจากการแยกขายเครื่องจักรออกเป็นส่วนหรือเป็นชิ้น หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของเครื่องจักรไปจากการใช้ประโยชน์เดิม

 

ต้นทุนทดแทนใหม่ (Replacement Cost New, RCN) สามารถหาได้จากการสอบถามโดยตรงจากผู้แทนจำหน่ายในกรณีที่สามารถตรวจสอบราคาขายเครื่องจักรในปัจจุบันได้ และใช้วิธีวัดแนวโน้ม (Trending Method) ในกรณีที่เครื่องจักรไม่สามารถตรวจสอบราคาขายในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ต้นทุนทดแทนใหม่ที่ได้จะต้องรวมค่าภาษีนำเข้าเครื่องจักร (ยกเว้นในกรณีที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก Board of Investment หรือใช้ใน Free Trade Zone) ค่าติดตั้ง ค่าขนส่ง ค่าทดสอบการเดินเครื่องจักร (Test Run) ค่าออกแบบ ค่าธรรมเนียมทางวิศวกรรม (Design and Engineering Fee) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น ที่ไม่ได้ระบุรวมไว้ในใบแจ้งหนี้ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Exchange Rate) จากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ประเมินมูลค่าเครื่องจักร

 

อายุใช้งานทางกายภาพ (Physical Life, N) คือ จำนวนปีที่ประมาณขึ้นมาของเครื่องจักรใหม่ ที่สามารถใช้งานได้ก่อนจะหมดอายุการใช้งาน อายุการใช้งานทางกายภาพปกติจะกำหนดจากข้อมูลทางสถิติ จากการศึกษาทรัพย์สินซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเครื่องจักรที่จะประเมินภายใต้สภาวะการดำเนินงานที่แท้จริง อายุการใช้งานของเครื่องจักรอาจจะยาวนานกว่าอายุทางเศรษฐกิจ (Economic Life) เพราะว่าเจ้าของอาจจะยังใช้เครื่องจักรนั้นต่อไป ถึงแม้ว่าอายุทางเศรษฐกิจได้หมดอายุลงไปแล้วก็ตาม สำหรับอายุการใช้งานของเครื่องจักรนั้นสามารถอ้างอิงจากตารางแนวทางอายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยสังเขป ที่กำหนดโดยสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย

 

อายุตามระยะเวลาที่ใช้งานของเครื่องจักร (Chronological Age, n) คือ จำนวนปีของเครื่องจักรหลังถูกสร้างขึ้นมา หรือถูกนำมาใช้งานจนถึงวันที่ประเมินมูลค่า

 

การเสื่อมราคาทางกายภาพ (Physical Deterioration, P) คือ การสูญเสียในมูลค่าอันเนื่องมาจากการชำรุดสึกหรอ (Wear and Tear) ของการใช้งานของเครื่องจักร การเสื่อมสึกกร่อน (Disintegration) การขาดการบำรุงรักษาสภาพของเครื่องจักร และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ ซึ่งทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรลดลง การกำหนดอายุใช้งานของเครื่องจักรจะขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องจักร ประเทศผู้ผลิตเครื่องจักร วัสดุที่ใช้ในการผลิต และเทคโนโลยี รวมถึงการพิจารณาสภาพของเครื่องจักร (Condition Factor, C)

 

การเสื่อมราคาทางประโยชน์ใช้สอย (Functional Obsolescence, F) ในสภาวะการใช้งานทั่วไปมักจะไม่ค่อยนำมาพิจารณา หรือมีค่าเป็น 1 ยกเว้นในกรณีที่มีการสูญเสียในมูลค่าอันเนื่องมาจากสภาพของเครื่องจักรเอง เช่น การเปลี่ยนแปลงในการใช้งานที่ไม่ตรงกับการออกแบบวัสดุหรือกระบวนการต่างๆ ซึ่งควรจะมีการปรับลดตามความเหมาะสม

 

การเสื่อมราคาทางเศรษฐกิจ หรือจากปัจจัยภายนอก (Economic / External Obsolescence, E) ในสภาวะการใช้งานทั่วไปมักจะไม่ค่อยนำมาพิจารณา หรือมีค่าเป็น 1 ยกเว้นในกรณีที่มีการสูญเสียมูลค่าอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น เศรษฐกิจท้องถิ่น ภาวะของอุตสาหกรรม ความพร้อมเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน ซึ่งควรจะมีการปรับลดตามความเหมาะสม

 

การประเมินมูลค่าเครื่องจักรโดยวิธีรายได้

การประเมินโรงงานที่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นการประเมินมูลค่าทั้งกิจการ ประกอบด้วย ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ส่วนควบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น โรงไฟฟ้า ที่มีสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับการไฟฟ้ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยการประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาตามสัญญา โดยใช้อัตราผลตอบแทน และมูลค่าสุดท้าย

 

การประเมินมูลค่าเรือเดินทะเล

การประเมินมูลค่าใช้วิธีเดียวกับมาตรฐานการประเมินมูลค่าโรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ คือ วิธีต้นทุน หรือวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด หรือทั้ง 2 วิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเพียงพอของข้อมูลในการนำมาวิเคราะห์ สำหรับเรือขนาดเล็กหรือสร้างประกอบในประเทศที่ไม่ซับซ้อน บริษัทฯ ใช้วิธีต้นทุนโดยการคำนวณน้ำหนักเหล็กตามโครงสร้างเรือและส่วนประกอบ

 

การประเมินราคาจากแบบแปลน และประเมินราคาจากใบเสนอราคา

การประเมินนี้เป็นการประมาณราคาค่าก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างจากแบบแปลนและรายการแสดงปริมาณงาน (BOQ) สัญญาก่อสร้าง โดยเปรียบเทียบกับแนวทางค่าก่อสร้างของสมาคมและราคาตลาด สำหรับการประเมินจากใบเสนอราคา เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อยู่ในระหว่างการจัดซื้อ ติดตั้ง หรือยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยประเมินราคาจากใบเสนอราคา สัญญาซื้อขายหรือติดตั้ง แคตตาล็อคเครื่องจักร บอชัวร์ หรือจากแบบแปลนและถอดราคาเป็น BOQ โดยพิจารณาข้อมูลทางด้านเทคนิค และหาข้อมูลเปรียบเทียบจากตลาดประกอบการประเมินราคา

 

การประเมินมูลค่าครุภัณฑ์ 

การประเมินราคาครุภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์สำนักงาน ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเช่นเดียวกับการประเมินมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ การประเมินตรวจสอบจากบัญชีทรัพย์สิน โดยกำหนดอายุใช้งานตามประเภทของครุภัณฑ์ และกำหนดมูลค่าคงเหลือหลังหมดอายุใช้งาน โดยอ้างอิงการกำหนดอายุใช้งานโดยสังเขป ตามมาตรฐานการประเมินมูลค่าโรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ และบัญชีการหักค่าเสื่อมครุภัณฑ์ของกรทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

 

การประเมินราคาสต็อคสินค้า

การประเมินมูลค่าสินค้า เช่น สินค้าทางการเกษตรหรือวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการผลิตในภาคอุตสาหกรรม บริษัทฯ ได้พิจารณาใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาดเป็นเกณฑ์ โดยการเปรียบเทียบสินค้า ประเภทเดียวกัน การจัดเกรดหรือคุณภาพในระดับเดียวกัน เช่น สินค้าทางการเกษตร โดยการวัดต่อหน่วยปริมาตร อ้างอิงจากหน่วยงานที่กำหนดราคาสินค้า ราคาสินค้าทางการเกษตรหรือวัตถุดิบจะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามความต้องการของตลาด การประเมินนี้อ้างอิงราคาสินค้าในวันที่ประเมิน การประเมินตรวจสอบจากข้อมูลสินค้าคงคลัง ลักษณะการจัดเก็บสินค้า ได้แก่ การหาน้ำหนักจากปริมาตรสินค้า และการหาน้ำหนักจากการนับจำนวนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

 

การประเมินมูลค่าซาก

ทรัพย์สินที่หมดอายุตามระยะเวลาใช้งานตามค่าเสื่อมค่าทางกายภาพ ค่าเสื่อมทางประโยชน์ใช้สอย และความล้าสมัยทางเทคโนโลยี ถึงแม้ยังไม่ได้ถูกใช้งานเลยตั้งแต่ซื้อมา ก็จะต้องพิจารณาค่าเสื่อมราคาเหมือนทรัพย์สินที่ถูกใช้งานตามปกติ การประเมินมูลค่าซากจะพิจารณาถึงลักษณะการใช้งานเฉพาะ ความสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และความต้องการของตลาดโดยมีผู้ต้องการซื้อ การประเมินพิจารณามูลค่าคงเหลือตามสภาพ ประเมินมูลค่าซาก หรือประเมินมูลค่าเศษวัสดุ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงค่ารื้อถอนและขนย้ายด้วย

มูลค่าตลาด คือ มูลค่าของทรัพย์สินที่เกิดจากขายทรัพย์สินที่รื้อถอนออกจากที่ตั้งและใช้งานในบริเวณเดิม โดยหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการ ซึ่งประมาณการในรูปของจำนวนเงินที่สามารถเปลี่ยนมือกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความเต็มใจ

มูลค่าซาก คือ การประมาณมูลค่าในรูปของจำนวนเงิน จากการขายทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นซากตามชนิดของวัสดุที่เป็นส่วนประกอบ โดยไม่ได้ขายเพื่อนำไปใช้งาน

มูลค่าเศษวัสดุ คือ มูลค่าจากการขายเศษวัสดุต่างๆ ของทรัพย์สินที่รื้อถอนในลักษณะไม่ได้นำไปใช้งานต่อ

ค่ารื้อถอนและขนย้าย คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการดำเนินการรื้อถอนทรัพย์สินออกจากที่ตั้ง ได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง